สตรอว์เบอร์รีลูกผสมใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า”สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89″

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผอ.สถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.มงคล ศิริจันทร์ อาจารย์ประจำคณะเกษตรฯม.นเรศวร ภายใต้ทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) มหาวิทยาลัยนเรศวรและมูลนิธิโครงการหลวง อวดโฉม สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ลูกใหญ่ เนื้อแน่นสีแดงเข้ม หวานหอม แถมมีสารแอนโทไซยานิน(สารต้านอนุมูลอิสระ) สูงกว่าสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ที่ขายในท้องตลาดทั่วไป 1-2 เท่า

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ เปิดเผยว่า  สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ใหม่ล่าสุด  เป็นพันธุ์ลูกผสมซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้น ภายใต้โครงการวิจัย “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” (เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(พวอ.)

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี พ.ศ.2557-2561) โดยในปี 57 ได้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ทดลองผสมพันธุ์ระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล เมื่อปี 42  มีลักษณะเด่นคือ ผลมีลักษณะรูปทรงกรวยปลายตัด ขนาดใหญ่ ผิวผลหนา มีสีแดงอมส้ม ผิวทึบแสง เนื้อในกลวง มีความแน่นเนื้อสูง มีรสเปรี้ยวอมหวาน กรอบ น้ำน้อย เส้นใยมาก และมีกลิ่นหอม ไม่นิยมรับประทานสด ช้ำยาก ทนทานต่อการขนส่ง เหมาะสำหรับการแปรรูป

และสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ ที่ถูกปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์โดยมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี 45 เป็นพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเด่นคือ ผลเป็นทรงกรวยถึงทรงกลมปลายแหลม ขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผลเฉลี่ย 15 กรัมต่อผล ผิวผลมีสีแดงสด เนื้อในเต็ม มีความแน่นเนื้อปานกลาง มีกลิ่นหอมรสชาติหวาน มีความหวานเฉลี่ย 10-13 องศาบริกซ์ (º Brix) เหมาะสำหรับใช้รับประทานสด หลังจากทำการผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีทั้งสองสายพันธุ์แล้ว จึงนำเมล็ดลูกผสมทั้งสิ้น 300 เมล็ดมาเพาะต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) จังหวัดเพชรบูรณ์

ต่อมาในปี 60 ได้เริ่มปลูกและคัดเลือกต้นสตรอว์เบอร์รีลูกผสมเหล่านั้นโดยคัดเลือกจากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ผลมีลักษณะแดงเข้ม ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ มีความแน่นเนื้อสูง มีกลิ่นหอม และมีศักยภาพในการสร้างสารแอนโทไซยานินสูง ได้ทั้งหมด 2 ต้นจาก 300 ต้น และได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้น ที่โรงเรือนปลูกทดสอบสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี ในต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยใช้ส่วนของไหล จนได้จำนวนทิ้งสิ้น 500 ต้น จากนั้น ในปี 61-63 จึงคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จนได้พันธุ์ที่มีความคงที่

และมีลักษณะผลสีส้มแดงถึงแดงเข้ม น้ำหนักผลเฉลี่ย 20.60 กรัม ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ มีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่งและมีปริมาณแอนโทไซยานินสูง รวมเฉลี่ย 40.83  มิลลิกรัม/100 กรัม น้ำหนักสด  (มีการวิจัยพบว่าแอนโทไซยานินมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า  ลดอาการอักเสบ ช่วยปกป้องหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดได้  ลดคอเลสเตอรอลในเลือด) ซึ่งสูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ซึ่งสตรอว์เบอร์รีลูกผสมใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า”สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89″

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม