นายกฯ พร้อมชี้แจง หาก สว.ขอ เปิดอภิปราย ครม. ชี้เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร เผย สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยลาออก ไม่กระทบการทำงานรัฐบาล เชื่อจะทำให้การทำงานบริหารได้เต็มที่มากขึ้น

Mummai Media

วันนี้ (8 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลาออกจาก สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะไม่กระทบกับการทำงานของรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวยืนยันว่า ไม่มี พร้อมกับเชื่อว่าการทำหน้าที่รัฐมนตรีจะดีขึ้น เพราะท่านได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ ตามที่นายสมศักดิ์ ได้พูดไปว่า งานตามกระทรวงต่าง ๆ ก็เยอะอยู่แล้ว พร้อมกับย้ำว่าไม่มีนัยยะอะไร เพราะเป็นเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วน อยากเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แบบไม่ลงมติ ในส่วนของคณะรัฐมนตรี มีความพร้อมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่าง หรืออะไรก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ

“แม้จะทำงานเพียงแค่ 4 เดือน ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือน หรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อม และยินดี” นายกฯ ย้ำ

นายกฯ พร้อมชี้แจง หาก สว.ขอ เปิดอภิปราย ครม. ชี้เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร เผย สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยลาออก ไม่กระทบการทำงานรัฐบาล เชื่อจะทำให้การทำงานบริหารได้เต็มที่มากขึ้น

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.ในวันนี้ (8 ม.ค.) จะมีการพิจารณาให้เป็นข้อยุติเกี่ยวกับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 หลังจาก กมธ.ได้หารือภายในและได้สอบถามความคิดเห็นของ สว.มาก่อนหน้านี้แล้วเห็นว่า สว.ควรทำหน้าที่ขอเปิดอภิปรายให้รัฐบาลชี้แจงในประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการทำงานตามนโยบายและการหาเสียง หลังพบว่าช่วง 4 เดือนที่ผ่านมายังไม่พบการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

สำหรับปัญหาหรือประเด็นที่จะเสนอในญัตติตามที่หารือเบื้องต้น ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลังจาก กมธ.การเมืองได้ข้อสรุปในประเด็นรายละเอียด รวมถึงการกำหนดวันอภิปราย ซึ่งเบื้องต้นการอภิปรายทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะให้ สว.เข้าชื่อ 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนเพื่อยื่นญัตติต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งตามบทบัญญัติของมาตรา 153 ไม่ได้กำหนดว่า ครม.ต้องมาตอบเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล