ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใหม่ 175 ราย  ผู้ป่วยยืนยันสะสม 24,279 ราย  จุฬาฯสั่งปิดมหาวิทยาลัย 12-28 ก.พ. จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แทน

สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ  ผู้ป่วยรายใหม่ 175 ราย  ผู้ป่วยยืนยันสะสม 24,279 ราย  หายป่วยแล้ว 20,210 ราย  เสียชีวิตสะสม 80 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก

ยอดผู้ติดเชื้อรวม 108,293,836 ราย

อาการรุนแรง 100,354 ราย

รักษาหายแล้ว 80,327,049 ราย

เสียชีวิต 2,378,759 ราย

 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด

1. สหรัฐอเมริกา 🇺🇸 จำนวน 28,002,240 ราย

2. อินเดีย 🇮🇳 จำนวน 10,880,413 ราย

3. บราซิล 🇧🇷 จำนวน 9,716,298 ราย

4. รัสเซีย 🇷🇺 จำนวน 4,027,748 ราย

5. สหราชอาณาจักร 🇬🇧 จำนวน 3,998,655 ราย

ประเทศไทย 🇹🇭 อยู่ในอันดับที่ 114 จำนวน 24,279 ราย

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามออกประกาศ ปิดที่ทำการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยพบว่ามีบุคลากรผู้พักอาศัยในอาคารจุฬานิวาสติดเชื้อโรค COVID-19 และได้ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งลดโอกาสติดเชื้อโรคดังกล่าวของผู้พักอาศัยในอาคารจุฬานิวาส ตลอดจนบุคลากรในมหาวิทยาลัย

โดยให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาพยาบาลและตรวจคัดกรองเชิงรุกกับผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค COVID-19 แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันและให้เกิดความปลอดภัยแก่นักเรียน นิสิต และบุคลากรจากการแพร่ระบาด รวมทั้งลดโอกาสติดเชื้อโรค COVID-19 และเพื่อให้การดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 จึงเห็นสมควรออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มหาวิทยาลัยปิดที่ทำการที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

ข้อ 2 ขอให้นิสิตและบุคลากรหลีกเลี่ยงการออกจากสถานที่พักอาศัย การเดินทางไปยังที่ชุมนุมชน หรือการพบปะบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุจำเป็น และมีหน้าที่ติดตามข่าวสารจากมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด

ข้อ 3 ให้จัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์ระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้

หากมีการวัดและประเมินผลระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้ผู้สอนพิจารณาปรับรูปแบบการวัดและประเมินผลโดยใช้วิธีการอื่นนอกจากการทำข้อสอบในห้องสอบหรือการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลเป็นระยะระหว่างที่มีการเรียนการสอน

ข้อ 4 ให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ สถานที่พักอาศัยของตนเองพร้อมรับการติดต่อหรือสั่งการจากผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ และรักษาระเบียบวินัยในการปฏิบัติงานโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล มอบหมายงานให้บุคลากรปฏิบัติตามที่เห็นสมควร

ข้อ 5 กรณีงานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การตรวจคัดกรองเชื้อโรค COVID-19 การดูแลนิสิตที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย หรืองานอื่นตามที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานประกาศกำหนด ให้บุคลากรนั้นมาปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็น โดยให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล ปรับวันหรือเวลามาปฏิบัติงานของบุคลากรนั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นให้บุคลากรตามวรรคหนึ่งมาปฏิบัติงาน ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแลสั่งให้บุคลากรนั้นปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยของตนเองก็ได้

ข้อ 6 ในกรณีจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล อาจจัดให้มีการประชุมหรือปรึกษาหารือระหว่างบุคลากรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สั่งให้บุคลากรคนใดมาปฏิบัติงาน หรือดำเนินการอื่นใดเท่าที่จำเป็นก็ได้

ข้อ 7 หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล อาจกำหนดรายละเอียดหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อดำเนินการโดยไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ก็ได้

ข้อ 8 กรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล วินิจฉัยชี้ขาด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม