กระทรวงสาธารณสุขเสนอยกระดับพื้นที่ให้ ศบค. พิจารณาล็อกดาวน์ในบางพื้นที่เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19

รายละเอียดผู้ป่วยรายใหม่ 1,335 ราย  ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 789 ราย  ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 537 ราย  เดินทางมาจากต่างประเทศ  9 ราย

พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข  อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การควบคุมสถานการณ์ ที่อาจต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ เช่น กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ประจวบคิรีขันธ์ และภาคตะวันออกบางจังหวัด แต่การประกาศมาตรการใดๆ ทาง ศบค. จะต้องฟังข้อมูลจากทีมงานของสาธารณสุขเป็นหลัก

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มนายกรัฐมนตรี สั่งการเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ให้เตรียมยกระดับ โดยขณะนี้ทีมงานได้เตรียมการไว้แล้ว เช่น การยกระดับพื้นที่ที่ผ่อนคลายให้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ ศบค.ระวังไม่ให้กระทบกับประชาชนโดยรวม ทั้งนี้นโยบายรายพื้นที่จะไม่ทำเหมือนทั้งประเทศ เพราะจะกระทบประชาชน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์ใช้ในพื้นที่แต่ต้องรอฟังข้อมูลจากสาธารณสุขอีกครั้ง

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 ว่า ที่ประชุมซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกกระทรวง มีการประชุมวางแผนรับมือโควิด 19 ใน 3 ประเด็น คือ

1.สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ โดยมาตรการสำคัญที่ได้ทำไปแล้ว คือ การปิดสถานบันเทิง โดยมีการเสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง การจัดงานที่มีคนจำนวนมากก เน้นให้ทำงานที่บ้าน ขอความร่วมมือประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาต่อไป

2.การบริหารจัดการเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกการทำงานให้บริหารจัดการเพิ่มเตียงมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ และ

3.เรื่องวัคซีนโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ด้วยข้อมูลระบาดวิทยาและด้านวิชาการ วัคซีนนำมาใช้ในประเทศไทย ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค มีประสิทธิภาพ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสั่งการให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ และต้องฉีดให้บุคลากร     ทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะด่านหน้าทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ได้ 100%

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 13 เม.ย. รวม 579,305 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 505,744 ราย และครบสองเข็ม 73,561 ราย ถือว่าฉีดได้ตามเป้าหมาย ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ซึ่งรอการตรวจทางห้องปฏิบัติการและเอกสาร คาดว่าจะส่งมอบให้กรมควบคุมโรคได้ใน 1-2 วันนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้จัดสรรวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 6 แสนโดส โดยขอให้ดำเนินการฉีดให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน หรือต้องฉีดให้ครบทุกคนภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากต้องฉีดคนละ 2 โดส

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ภาพรวมการแพร่ระบาดในรอบนี้ ได้กระจายไปทั่วประเทศ มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องจากสถานบันเทิง และในกลุ่มนักศึกษาออกค่าย นักศึกษากลับภูมิลำเนา และพบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการทำกิจกรรมรวมกลุ่มในระยะนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อเป็นจำนวนมาก หากทุกคนคนร่วมมือร่วมใจกันลดพฤติกรรมเสี่ยง งดเว้นการจัดกิจกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในวงกว้าง นอกจากนี้ หลังจากเทศกาลสงกรานต์กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำให้หน่วยงานสาธารณสุขเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรอง ติดตาม กำกับ กักตัว ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคนให้ครบถ้วน

ส่วนผู้ติดเชื้อแล้วต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม เท่านั้น ถึงแม้อาการไม่มากแต่อาจเกิดอาการปอดบวมและภาวะแทรกซ้อนได้ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ลดโอกาสแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว และชุมชน ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้เข้มมาตรการองค์กร เช่น การสวมหน้ากากอนามัยให้ได้ 100% ในที่ทำงาน ไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกัน จัดรูปแบบการทำงาน Work from Home ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการทุกแห่งดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ      ในส่วนผู้ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัดในทุกจังหวัด หากเป็นไปได้ให้ Work from Home อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อข้ามจังหวัด หรือหากกลับมาแล้วให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถ้ามีอาการผิดปกติให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1422 นำเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว

สำหรับสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อขอให้เน้นการทำความสะอาดในจุดเสี่ยงที่มีผู้สัมผัสบ่อย เช่น ราวบันได กลอน ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ ด้วยการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องพ่นฆ่าเชื้อ

ในอากาศเนื่องจากเชื้อไม่ได้อยู่ในอากาศเป็นเวลานาน ยกเว้นในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น อากาศไม่ระบาย การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในอากาศตลอดเวลาถือว่าเกินความจำเป็น

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม