ศบค.มีมติปิดผับบาร์ พื้นที่สีแดง 18 จว. ร้านอาหารนั่งได้ถึง 3 ทุ่ม สั่งกลับบ้านได้ถึง 5 ทุ่ม ห้ามดื่มในร้าน มีผลบังคับ 18 เม.ย.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงข่าวผลจากที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ในการประกาศใช้มาตรการป้องกัน ควบคุมโควิด-19 โดยระบุว่า ไม่มีเคอร์ฟิว วันนี้ในการประชุมใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากต้องหารือถึงผลกระทบต่อประชาชนในการประกาศใช้มาตรการ เราเรียนรู้มาหลายระลอกแล้วกว่า 1 ปี จนในวันนี้การระบาดระลอกใหม่เดือนเม.ย.2564 ฉะนั้น จะต้องหาว่ามีมาตรการอื่นนอกเหนือจากการเคอร์ฟิวหรือไม่ เพื่อการควบคุมโรคและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้เสนอมาตรการขึ้นมาว่า สิ่งที่ต้องยกระดับในตอนแรกพูดคุยกันว่าเพื่อไม่ให้มีการเดินทาง การแพร่กระจายเชื้อ แต่ในทางยุทธศาสตร์ต้องไปดูพื้นที่ที่มีอัตราติดเชื้อสูงมาก พบว่า อยู่ในจังหวัดสีแดง ซึ่งมีการติดเชื้อประมาณ 3 หลักขึ้นไป ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น และ พื้นที่ควบคุม จังหวัดสีส้ม 59 จังหวัดที่เหลือ

“การเคอร์ฟิวคือควบคุมคน ไม่ให้ออกจากสถานที่ในเวลาที่กำหนด ซึ่งเกิดผลเสียหายให้ประเทศในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบประชาชนระดับรากหญ้า สิ่งที่เราต้องดูคือ กำกับพื้นที่เป้าหมายปลายทาง หมายถึงกิจการ/กิจกรรม โดยสิ่งที่เป็นปัญหาที่เราเรียนรู้มา เช่น สถานบันเทิง สถานที่เรียนที่มีการรายงานหลายจังหวัด พบผู้ติดเชื้อประมาณ 28 ราย การติดเชื้อกลุ่มก้อนงานสัมมนาอีกประมาณ 14 ราย การแข่งขันฟุตบอลกลางแจ้ง การออกค่ายของมหาวิทยาลัยที่ติดเชื้อถึง 34 ราย การรับประทานอาหารร่วมกันก็ติดได้ การเลี้ยงรุ่นในร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ คาราโอเกะ การชุมนุมคนจำนวนมากในงานต่างๆ งานบวชก็ติดเชื้อได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จึงเกิดข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นมา โดย(ร่าง) ข้อกำหนดออกความตามมาตรการ9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (ฉบับที่20)

ข้อที่ 1 ห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ได้แก่

ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียน การสอนทุกประเภท รวมถึงการสอบและฝึกอบรม แต่หากไม่สามารถงดจัดได้ เช่น การสอบของโรงเรียนนานาชาติ ที่ต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศหรือทั่วโลก ก็ให้ทำเรื่องขออนุญาต

ห้ามทำกิจกรรมที่รวมคนมากว่า 50 คนขึ้นไป เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่พื้นที่กำหนดให้เป็นพื้นที่กักกันโรค

ข้อที่ 2 การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นชอบ โดยให้ปิดผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือกิจการที่คล้ายกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

ข้อที่ 3 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสุงสุด 18 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด ตามที่กล่าวข้างต้น

โดยมาตรการย่อยของพื้นที่ควบคุมสุงสุด ประกอบด้วย 1.การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปิดร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. แต่หากซื้อกลับบ้านสามารถจำหน่ายได้ถึง 23.00 น. 2.งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเด็ดขาด

3.ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เปิดได้ตามเวลาปกติและปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. โดยงดเว้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย งดบริการสวนสนุก ตู้เกม เครื่องเล่น

4.ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดได้ถึงเวลา 23.00 น. โดยให้เริ่มเปิดในเวลา 04.00 น. และ

5.สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดได้ถึง 21.00 น. สามารถจัดกิจกรรมแข่งกีฬาได้แต่ต้องจำกัดผู้เข้าชม

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 14 วัน โดยศบค.ชุดเล็กจะพิจารณาและเสนอแนะต่อนายกฯว่าจะมีมาตรการใดเพิ่มเติมหลังจากนี้หรือไม่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการย่อยของพื้นที่ควบคุม จะคล้ายกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ร้านอาหารสามารถนั่งในร้านและให้ปิดร้านในเวลา 23.00 น. โดยห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้าน ส่วนห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึง 21.00 น. เช่นเดียวกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ไม่มีข้อกำหนดเรื่องร้านสะดวกซื้อ สถานที่ออกกำลังกาย ดังนั้น ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตามปกติ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อที่ 5 การงดหรือเลี่ยงเดินทาง ขอให้ชะลอการเดินทางที่ไม่มีเหตุจำเป็นออกไป เลี่ยงการเดินทางเข้าเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยจะมีการตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรองเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ ข้อที่ 6 ขอความร่วมมืองดจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือเลื่อนออกไปในช่วงเวลานี้ ข้อที่ 7 การดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสม โดยขอความร่วมมือมาตรการทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) ซึ่งขอให้ภาครัฐดำเนินการเต็มรูปแบบ

“ขอความร่วมมือจากประชาชน ไม่มีเคอร์ฟิว ก็ต้องปฏิบัติกันแบบนี้ ขอความร่วมมือทำงานจากที่บ้าน ออกเฉพาะที่จำเป็น หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องออกจากบ้าน แต่เราจะไม่ประกาศเคอร์ฟิว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ข้อที่ 8 มาตรการรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ “ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19” ร่วมกับ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย” และ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง” เร่งดำเนินการจัดหาสถานที่รองรับ ดูแลรักษา แยกกัก กักกัน สำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโดยด่วน โดยขอความร่วมมือจากสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม สถานที่เอกชน หรือที่เห็นสมควรอื่นๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรต่างๆ ด้วย

“ขอให้ผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารับการรักษา แยกกัน ในสถานที่ตามระยะเวลาที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด จนกว่าจะได้ตรวจและยืนยันจากแพทย์ว่าพ้นระยะเวลาของโรค หรือ สิ้นสุดเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค เพื่อจำกัดการระบาดและเพื่อควาปมลอดภัยของประชาชนส่วนรวม รวมถึงผู้ที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อทำการแยกกักและตรวจหาเชื้อ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า และข้อที่ 9 การประเมินสถานการณ์หลังประกาศใช้แล้วใน 2 สัปดาห์ โดยมอบหมายให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมิน เพื่อปรับเปลี่ยนระดับพื้นที่สถานการณ์และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ โดยนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค. พิจารณาเปลี่ยนแปลงมาตรการต่อไป

“โดยมีผลบังคับในวันที่ 18 เม.ย. หรือพูดง่ายๆ คือ มีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องดำเนินการปฏิบัติตามข้อกำหนดในฉบับที่ 20 จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในมาตรการต่างๆ ที่กล่าวไป” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม