ภาคเอกชนขานรับ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ขอใช้เป็น “โมเดล” เปิดกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมาย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือ SMEs โดยได้เชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมหารือถึงนโยบายและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ลดภาระต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง และเสริมรายได้เพิ่ม เพื่อให้ SMEs สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตินี้โควิด-19  และไปต่อได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ผ่านมาท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มรายได้และลดต้นทุน เช่น ด้วยการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและกระตุ้นการการบริโภคภายในประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน รวมทั้งเพิ่มวงเงินให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน พรก. Soft Loan โครงการค้ำประกันเงินกู้และสินเชื่อสำหรับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งการออกมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ การลด/เร่งคืนภาษี ให้กับผู้ประกอบการส่งออก และขยายระยะเวลาการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการ Digital Factoring และกระบวนการสนับสนุน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย การออกกฎกระทรวงการคลังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SMEs และการออกประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำหนดแนวปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม เกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้ำ (Credit Term) กรณี SMEs เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ

ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่า ภาคเอกชนถือเป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาล ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน SMEs ตามแนวทางและมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะการจูงใจให้ SMEs มาจดทะเบียนกับภาครัฐ เพื่อให้เข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น  เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ช่วยเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนให้ได้รับสินเชื่อ/สินเชื่อ Factoring ดอกเบี้ยต่ำ ร่นระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าแก่ SMEs ที่เป็นผู้ขายให้เร็วขึ้น จับคู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้กับ SMEs ในการพัฒนาทักษะที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหารือร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเพื่อเพิ่มบทบาทในการสนับสนุน SMEs ที่สอดรับกับความต้องการของ SMEs โดยแท้จริงอีกด้วย รวมทั้งสั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์และขยายผลมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนและการเพิ่มศักยภาพ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs  โดยจะให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแนวทางที่ได้มีการหารือทันที่ เพราะ SMEs จำนวนมากกำลังประสบปัญหาในทุกวันนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ตอบรับแนวทางนโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน พร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามแผนเปิดประเทศ และจะใช้ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นต้นแบบ ในการจัดทำมาตรการให้สามารถเปิดพื้นที่เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมเตรียมธุรกิจที่อยู่ในซัพพลายเชนของการท่องเที่ยว รองรับการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าของขวัญของที่ระลึก สินค้าในซัพพลายเชนของโรงแรม ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความมั่นใจว่าจะดูแลและป้องกันสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการและแรงงานด้วย

โอกาสนี้ หอการค้าไทยได้นำเสนอมาตรการระยะสั้นและวางรากฐานช่วย SMEs ไทย อาทิ การปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก ปลดล็อกลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร/NPL เข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้รัฐผ่อนคลายกฎระเบียบให้สถาบันทางการเงินมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจมากขึ้น ขณะที่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยนำเสนอมาตรการเร่งด่วนเข้าถึงแหล่งทุนและลดการว่างงาน อาทิ ทั้งการพักต้น-พักดอก-เติมทุน  มาตรการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจชาติ (Thailand e-Job Platform)  เฟรนไซส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย  กองทุนฟื้นฟู NPLs  เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอ 8 แนวทาง 3 ด้านสำคัญ คือ ด้านการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ Supply Chain Factoring  โครงการจำนำสต็อกสินค้า ขยายผลมาตรการจาก พรก. Soft Loan เป็นต้น ด้านการตลาด สนับสนุนสินค้า SME ที่ขึ้นทะเบียน Thai SME-GP ของสสว.  และด้านการลดค่าใช้จ่าย  อาทิ มาตรการ คนละครึ่ง-ภาคSME  โครงการ Co-payment ค่าแรงงาน เป็นต้นด้วย

ตรวจเช็ค 20 เงื่อนไข นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย เข้าสู่ “Phuket Sandbox”

1.กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง (สาธารณสุขกำหนด)

2.คนต่างชาติไม่ว่าจะถือพาสปอร์ตประเทศไหนต้องอาศัยอยู่ในประเทศความเสี่ยงต่ำและปานกลางอย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางเข้าภูเก็ต

3.คนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยสามารถเดินทางเข้า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ได้ แต่ต้องเดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง

4.กรณีคนไทยเดินทางไปฉีดวัคซีนต่างประเทศกลับเข้าภูเก็ตได้ แต่ต้องหลังจากฉีดวัคซีนแล้วเกิน 14 วัน

5.วัคซีนที่ฉีดต้องได้รับการรับรองโดย อย. (ไทย) หรือ WHO ครบโดสตามประเภทวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรอง

6.กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อนุญาตให้เดินทางมากับผู้ปกครองที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วได้

7.กรณีติดเชื้อต้องได้รับวัคซีนครบตามประเภทของวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน

8.มีผลการตรวจโควิด RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

9.มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด วงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 100,000 USD

10.ต้องตรวจหาเชื้อครั้งแรก ณ สนามบิน

11.ติดตั้งแอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ)

12.ลงทะเบียนตรวจสอบข้อมูลการได้รับวัคซีนผ่าน www.entrythailand.go.th

13.เดินทางเข้าโรงแรมที่พักด้วยรถบริการที่ได้มาตรฐาน SHA+ ของโรงแรม ห้ามใช้บริการรถรับจ้างทั่วไป

14.เข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ และมีโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญา

15.พักในภูเก็ต 14 วันก่อนเดินทางออกไปพื้นที่อื่น หากอยู่ไม่ครบ 14 วันต้องเดินทางกลับโดยเที่ยวบินที่บินตรงออกราชอาณาจักรเท่านั้น

16.จองโรงแรมที่พักได้มากกว่า 1 แห่ง โดยจองล่วงหน้าก่อนเดินทาง

17.เมื่อถึงโรงแรมที่พักต้องรองผลตรวจ RT-PCR ภายในห้อง หากผลตรวจไม่พบเชื้อจะสามารถออกไปท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ หากพบเชื้อจะถูกส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาของโรงแรม

18.จำนวนครั้งของการตรวจ RT-PCR ขึ้นอยู่กับจำนวนวันเข้าพัก โดยกำหนดให้ตรวจวันที่ 1, 6/7 และ 12/13 เช่น อยู่ 5 วัน ตรวจ 1 ครั้ง อยู่ 7 วัน ตรวจ 2 ครั้ง หากอยู่ครบ 14 วันต้องตรวจ 3 ครั้ง

19.ปฏิบัติตามมาตรฐาน D-M-H-T-T-A

20.เมื่อครบ 14 วันต้องการเดินทางออกจากภูเก็ตให้แสดงเอกสารยืนยันว่าได้พักในภูเก็ต 14 คืน และมีหลักฐานการควบคุมโรคตามที่จังหวัดปลายทางกำหนด

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม